ผลงานและรางวัลของลำพูนไหมไทย

    ผ้าทอจากคุ้มเจ้าถึงชาวบ้าน การทอผ้าไหมยกดอกของชาวลำพูนมีจุดเริ่มต้นใน "คุ้มเจ้า" ซึ่งแต่เดิมแม้จะเคยมีการทอผ้าฝ้ายยกดอกกันอยู่ก่อนแล้ว แต่ก็เป็นการทอยกดอกด้วยลวดลายธรรมดาไม่วิจิตรเท่าใดนัก จนกระทั่ง พระราชชายาเธอเจ้าดารารัศมี ซึ่งเป็นพระญาติกับเจ้าเมืองลำพูน ได้ถ่ายทอดความรู้เรื่องการทอผ้าไหมยกดอกที่มีลวดลายสวยงามแปลกตา อันได้เรียนรู้มาจากราชสำนักสยาม ให้แก่เจ้าหญิงส่วนบุญชายาของพลตรีเจ้าจักรคำขจรศักดิ์ ผู้ครองนครลำพูนองค์สุดท้าย และเจ้าหญิงลำเจียก ธิดาในเจ้าจักรคำขจรศักดิ์ ให้เป็นผู้เริ่มทำก่อน ต่อมาการทอผ้าไหมยกดอกจึงได้เผยแพร่ไปสู่สาธารณชนในวงกว้าง ได้มีการฝึกหัดชาวบ้านในเขตอำเภอเมือง และป่าซางให้มีความชำนาญในการทอผ้าไหมยกดอกเป็นอย่างดี เมื่อมีเส้นทางรถไฟจากกรุงเทพถึงเชียงใหม่ ความต้องการผ้าไหมจากกรุงเทพฯ ยิ่งเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะหลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2547 ช่วงที่จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีแนวความคิดให้ประชาชนแต่งกายแบบสากลนิยม สุภาพสตรีในยุคนั้นสวมหมวกและนุ่งกระโปรงจีบอย่างสวยงาม ผ้าไหมยกดอกของลำพูนจึงกลายเป็นหัตถกรรมที่มีชื่อเสียง และได้เกิดโรงทอขึ้นมากมายในจังหวัดลำพูน อาทิ โรงทอคุ้มเจ้าหญิงส่วนบุญ โรงทอเจ้าหญิงลำเจียก โรงทอป้าคำแหว้น ป้าฟองคำ ป้าจันทร์ดี ป้าบุญศรี ป้านวลแก้ว คุณย่าบัวผัน ป้าจันทร์นวล ลำพูนผ้าไหมไทย ฯลฯ

    ทางกลุ่มลำพูนผ้าไหมไทย ได้เริ่มรวมกลุ่มกันทอผ้ายกดอกเมื่อต้นปี พ.ศ.2535 และได้อนุรักษ์ลวดลายผ้าไหมยกดอกแบบโบราณ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของลำพูน เช่น ลายดอกแก้ว หรือลายพิกุลไว้ ทั้งยังได้คิดค้นลวดลายใหม่ๆ เพิ่มขึ้นเพื่อใช้ในโอกาสงานพระราชพิธีต่างๆ และงานแฟชั่นเครื่องแต่งกายร่วมสมัยในปัจจุบัน โดยมีลวดลายให้เลือกหลายแบบทำให้วงการผ้าทอของลำพูนมีความก้าวหน้าได้ควบคุมคุณภาพผ้าทอให้ได้มาตรฐานเป็นเลิศ โดยคัดเลือกเส้นไหมไทยแท้รังเหลืองในการทอ เนื้อผ้าจึงแน่นหนามีน้ำหนัก คงทนสีไม่ตก ยิ่งใส่นานเนื้อผ้ายิ่งมีความนุ่มและเนียนไม่ร้อน ซับเหงื่อได้ดี ทั้งยังได้ปรับปรุงพัฒนางานผ้าไหมยกดอก ให้หลากหลายโดยเป็นผู้นำสีธรรมชาติ (NATURAL COLOUR) มาย้อมและล่าสุดทางกลุ่มลำพูนผ้าไหมไทยได้นำ เทคโนโลยีนาโน (NANO TECHNOLOGY) มาใช้ในการย้อมเส้นไหมเพื่อให้ผ้าไหมยกดอกมีคุณสมบัติในการกันน้ำและกันเปื้อน ซึ่งเหมาะแก่งานผ้าไหมที่ใช้สำหรับงานตกแต่งภายใน (INTERIOR) และงานออกแบบลายผ้าจากนักออกแบบชั้นนำ (DESIGNER) เป็นต้น

ผลงานและรางวัล

ปี2543, กลุ่มลำพูนผ้าไหมไทย ได้รับรางวัลผลงานพัฒนาชุมชนดีเด่นระดับอำเภอจากกรมการพัฒนาชุมชนกระทรวงมหาดไทย
ปี2544, งานผ้าปูโต๊ะไหมยกดอก ได้รับรางวัล Seal of excellence for Handicraft Products in Southeast Asia จาก UNESCO-AHPADA และได้รับรางวัลชนะเลิศที่ 1 ในหลายประเภทของการประกวดผ้าทอประเภทผ้าไหมยกดอกในงานมหกรรมผ้าทอและของดีเมืองลำพูน
ปี2545, ได้รับเกียรติบัตรจากศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดลำพูน ให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ชุมชน จังหวัดลำพูนดีเด่น ในปีเดียวกันนี้ได้รับรางวัลชนะเลิศรางวัลที่ 1 ผ้าไหมยกดอกในงานประชุมไหมโลก ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
ปี2546, ได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณรางวัลชนะเลิศการประกวดผลิตภัณฑ์ผ้าภาคเหนือ จากการประกวดผลิตภัณฑ์ผ้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ดีเด่นระดับภาคเหนือ จาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี
ปี2547, ผลิตภัณฑ์ผ้าไหมยกดอกได้รับการรับรองและอนุญาตให้แสดงเครื่องหมายมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชนจากสำนักมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมกระทรวงอุตสาหกรรม
ปี2548, ได้รับหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า สำหรับสินค้าผ้าไหมยกกี่พื้นเมือง จากสำนักเครื่องหมายการค้า กรมทรัพย์สินทางปัญญา ทะเบียนเลขที่ ค221991
ปี2549, ได้รับรางวัล EXCELLENCE PRIZE จากงาน MIT DESIGN AWARD 2006 ในงาน MADE IN THAILAND ประเภท FASHION
ปี2550 ได้รับรางวัลชนะเลิศ 2 รางวัล "รางวัลผลิตภัณฑ์ จากผ้าไหมระดับจังหวัดจากศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดเชียงใหม่" ตามโครงการผลักดันสินค้าไหมไทยสู่ตลาดโลก
ปี2551, ได้รับรางวัลประกาศนียบัตรผลิตภัณฑ์ดีเด่นระดับ 5 ดาวประเภทผ้าไหมยกดอกในโครงการคัดสรรสุดยอดหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ไทย ( OTOP PRODUCT CHAMPION ) ให้ไว้เมื่อ 23 ธันวาคม 2551
ปี2552, ได้รับเครื่องหมายรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ผ้าไหมไทยชนิด ROYAL THAI SILK, CLASSIC THAI SILK, THAI SILK จากสถาบันหม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ และได้รับอนุญาตให้ใช้ตราสัญลักษณ์เครื่องหมายบริการสินค้าคุณภาพจังหวัดลำพูน (LAMPHUN BRAND) เมื่อ 13 พฤษภาคม 2552
ปี2553, ได้รับอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ GI (Geography Indicator) จากองค์การ บริหารส่วนจังหวัดลำพูน
ปี2555, ได้รับพระราชทานรางวัลชนะเลิศ การประกวดผ้าไหมตรานกยูงพระราชทานสีน้ำเงิน ประเภทผ้ายก ในงานตรานกยูงพระราชทาน สืบสานตำนานไหมไทย เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา
ปี2555, ได้รับโล่รางวัลผู้ประกอบการด้านการตามสอบสินค้า GI ประจำปี 2555 จากสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ ให้ไว้วันที่ 9 ตุลาคม 2555
ปี2556, ได้รับรางวัลประกาศนียบัตรผลิตภัณฑ์ดีเด่นระดับ 5 ดาวประเภทผ้า เครื่องแต่งกาย ผ้าไหมยกดอกลำพูน ในโครงการคัดสรรสุดยอดหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ไทย 2555 ( OTOP PRODUCT CHAMPION ) ให้ไว้เมื่อ 1 มีนาคม 2556
ปี2556, ได้รับพระราชทานรางวัลชนะเลิศ การประกวดผ้าไหมตรานกยูงพระราชทานสีน้ำเงิน ประเภทผ้ายก ในงานตรานกยูงพระราชทาน สืบสานตำนานไหมไทย เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 81 พรรษา
ปี2557, ได้รับพระราชทานรางวัลชนะเลิศ การประกวดผ้าไหมตรานกยูงพระราชทานสีน้ำเงิน ประเภทผ้ายก ในงานตรานกยูงพระราชทาน สืบสานตำนานไหมไทย เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 82 พรรษา
ปี2558, ได้รับการรับรองการผลิตเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมประเภทการผลิตสิ่งทอขนาดเล็ก ระดับดีมาก(G เงิน) ประจำปี 2558 ของกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ ให้ไว้เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2558
ปี2559, ได้รับรางวัลประกาศนียบัตรผลิตภัณฑ์ดีเด่นระดับ 5 ดาวประเภทผ้า เครื่องแต่งกาย ผ้าไหมยกดอกลำพูน ในโครงการคัดสรรสุดยอดหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ไทย 2559 ( OTOP PRODUCT CHAMPION ) ให้ไว้เมื่อ 25 ตุลาคม 2559
ปี2560, ได้รับรางวัลพระราชทานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ การประกวดผ้าไหมตรานกยูงสีน้ำเงิน(Thai Silk) ประเภทผ้ายก ในงานตรานกยูงพระราชทาน สืบสานตำนานไหมไทย ครั้งที่ 12 ประจำปี 2560 จัดโดยกรมหม่อนไหม วันที่ 13-17 กรกฎาคม 2560 ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพค เมืองทองธานี
ปี2560, ได้รับพระราชทานรางวัลชนะเลิศจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในการประกวดผ้าไหมตรานกยูงพระราชทานสีน้ำเงิน ประเภทผ้ายก ในงานตรานกยูงพระราชทาน สืบสานตำนานไหมไทย ประจำปี พ.ศ.2560
ปี2562, ได้รับรางวัลชนะเลิศในการประกวดสุดยอดผลิตภัณฑ์ OTOP เด่น ของจังหวัดลำพูน ( Provincial Star OTOP : PSO )
ปี2563, วันที่ 6 มกราคม 2563 เวลา 14.22 น. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จมายังหอประชุมสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ เพื่อทอดพระเนตรผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นภาคเหนือ 17 จังหวัด ทรงพระราชทานคำแนะนำในการแปรรูปผ้าไหมยกดอกลำพูน ภายหลังทรงโปรดเกล้าฯ ตรวจชิ้นงาน และ ทรงรับผ้าไหมยกดอกลำพูน เป็นผ้าในพระราชวินิจฉัยเพิ่มเติม
ปี2564, เข้าพิธีรับมอบลายผ้า “(ผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีนารีรัตนราชกัญญา)” โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูนเป็นประทานมอบเบื้องหน้าพระรูปสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์ราชกัญญา ที่ทรงประทานพระอนุญาตให้กลุ่มทอผ้าทุกกลุ่ม ทุกเทคนิค สามารถนำไปใช้ทอผ้า ผลิตผ้าได้
ปี2565, วันที่ 5 มีนาคม 2565 เข้าเฝ้ารับเสด็จสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เพื่อรับคำแนะนำการยกระดับพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ทันสมัยและเป็นสากลมากขึ้น กลุ่มลำพูนไหมไทยได้ยกระดับและเพิ่มมูลค่าให้แก่ผ้า โดยการเพิ่มการปักดิ้นที่ละเอียด ด้วยวิธีการแบบโบราณเพิ่มความงดงามและทรงคุณค่าให้แก่ผ้าไหมยกดอก